10 ผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทย ใน 10 ผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทย กวาด 10 รางวัล จากเวทีประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “41st International Exhibition of Inventions of Geneva”

on . Posted in ข่าวทั่วไป

          คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โชว์ 10 ผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทย กวาด 10 รางวัล จากเวทีประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “41st International Exhibition of Inventions of Geneva” ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิส และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกนับเป็นอีกมิติหนึ่งที่ได้แสดงศักยภาพของประเทศไทยและผลงานนักประดิษฐ์คิดค้นชาวไทยไปประจักษ์ต่อชาวโลก และยังเป็นโอกาสดีที่นักประดิษฐ์ไทยได้พบปะกับนักธุรกิจ นักลงทุนที่ต้องการซื้อสินค้าและนวัตกรรมอีกทางหนึ่ง จัดขึ้น ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา

          ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารวิชาการและวิจัย และอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.หนึ่งในทีมนักวิจัยที่นำผลงานเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ กล่าวว่า การจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงผลงานของนักประดิษฐ์จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เป็นผลงานดีเด่นของแต่ละภูมิภาคที่นำมาแสดงและประกวดในเวทีนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์คิดค้นคนไทย ทั้งในระดับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่อสาธารณชนในระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายด้านการประดิษฐคิดค้นระหว่างประเทศไทยกับองค์การด้านการประดิษฐ์ระดับนานาชาติอีกด้วย ในงานนี้ทีมอาจารย์นักวิจัยและนักศึกษาธรรมศาสตร์ ส่ง 10 ผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าประกวด ซึ่งสามารถคว้ารางวัลมาได้ 10 รางวัล แบ่งเป็น 2 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ 2 รางวัลพิเศษ (Special Prize Awards) ซึ่งมาจากผลโหวตของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน
       
       สำหรับรางวัลเหรียญทอง 2 รางวัลประกอบไปด้วย รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with the Congratulations of the Jury) คือ อุปกรณ์ช่วยพ่นยาชนิดทำได้ด้วยตนเอง ของ รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล และคณะ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในกลุ่ม วิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส และได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศไต้หวัน และอีกรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) คือ การใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรมการกักเก็บสารสำคัญจากพืชด้วยเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน ผศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา และ รศ.ดร.ลักขณา หล่อตระกูล ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง วิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข และได้รับรางวัล Special Prize จาก ประเทศมาเลเซีย
       
       สำหรับรางวัลเหรียญเงิน 4 รางวัล คือ 1.ระบบฝึกจัดวางท่าทางแบบไร้สาย ของ รศ.ทพญ.ดร. ศิริวรรณ สืบนุการณ์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และผู้วิจัยร่วม อ.ทพญ.ดร.พรสวรรค์ ธนธรวงศ์ แห่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สืบนุการณ์ แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในกลุ่มคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสื่อสาร 2.การพัฒนายาเม็ดจากสารสกัดกระเจี๊ยบแดงเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ของ รศ.ดร.ภญ.อรุณพร อิฐรัตน์ และคณะ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในกลุ่มภูมิปัญญาพื้นบ้าน และอุปกรณ์ครัวเรือน 3.รถสะเทินน้ำสะเทินบก ของ รศ.ดร.ดุลยโชติ ชลศึกษ์ ผศ. ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ และคณะ แห่งภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในกลุ่มกีฬา และกิจกรรมสันทนาการ และ 4.เครื่องปอกมะพร้าวน้ำหอม ของ รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ และ ผศ.ดร.ชาญไชย ไทยเจียม แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในกลุ่มงานด้านพืชสวน และเกษตรกรรม
       
       และรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) อีก 2 รางวัล คือ เกษตร+อาศรม : บ้านแห่งอนาคต (ทำเกษตรแผนใหม่พร้อมอยู่บ้านไทยอย่างพอเพียง) ของ ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในกลุ่มสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมโยธา และระบบอบแห้งวัสดุการเกษตรชนิดไฮบริดร่วมระหว่างไมโครเวฟ ลมร้อน และระบบสายพานลำเลียงอย่างต่อเนื่องที่มีการป้อนคลื่นหลายตำแหน่ง ของ ดร.สมศักดิ์ วงษ์ประดับไชย ศ.ดร. ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช และ นายวิโรจน์ จินดารัตน์ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลในกลุ่มงานด้านพืชสวน และเกษตรกรรม

ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา ได้รับรางวัล GREEN TALENTS 2012 ณ ประเทศเยอรมนี

on . Posted in ข่าวทั่วไป

       อาจารย์ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ได้เดินทางไปรับรางวัลและเข้าร่วมกิจกรรมบางส่วนที่เป็นส่วนหนึ่งของรางวัลระหว่างวันที่ 9-24 ตุลาคม 2555 โดยเข้ารับรางวัลกับท่านรัฐมนตรี Prof. Dr. Annette Schavan (The Federal Ministry of Education and Research (BMBF)) ในวันที่ 23 ตุลาคม 2555 
       รางวัล Green Talent เป็นโปรแกรมการแข่งขันระดับโลกที่ทำการคัดเลือกให้รางวัลแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ทั่วโลกที่มีผลงานวิจัย ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นสีเขียว รางวัล Green Talent เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2009 โดยได้รับการสนับสนุนจาก The German Federal Government ภายใต้การจัดการของ The Federal Ministry of Education and Research (BMBF) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือด้าน R&D ในระดับนานาชาติ เพื่อการพัฒนาสีเขียวที่ยั่งยืน โดยมีประเทศเยอรมนีเป็นศูนย์กลางในการให้การสนับสนุนในด้านบุคลากร สถานที่วิจัย และ เทคโนโลยี ในปี 2012 
       อาจารย์ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา ได้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน Green Talent 2012 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 25 จากผู้สมัครทั่วโลก (69 ประเทศ) โดยรางวัลประกอบด้วย
       - การเข้าร่วม The International Forum for High Potentials in Sustainable Development ณ ประเทศเยอรมนี
       - การเยี่ยมสถาบันวิจัยชั้นนำของเยอรมนี
       - การมีโอกาสพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยใดก็ได้ในประเทศเยอรมนีที่ผู้รับรางวัลต้องการ
       - การทำงานวิจัย ณ สถานบันใดก็ได้ในประเทศเยอรมันเป็นเวลา 3 เดือน ในปี 2556

ข้อมูลจาก
http://sat.rmutl.ac.th/index.php/pr/2012-01-10-00-07-37/255--green-talents-2012-

บัณฑิต พสวท.ได้ รางวัล นักวิจัยระดับโลก

on . Posted in ข่าวทั่วไป

Shivatra (formerly Chutima)
Noi Talchai, PhD
e-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

           ดร. ฌีวาตรา (เดิม ชุติมา) ตาลชัย ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นเยาว์ดีเด่นจากสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งสหรัฐอเมริกา (www.endo-society.orgซึ่งเป็นองกรค์ที่ใหญ่เก่าแก่ และผลิตผลงานวิชาการ อุทิศต่อการวิจัยและรักษาโรคที่เกี่ยวกับฮอร์โมน มากที่สุดในโลก* ดร. ฌีวาตรา  ตาลชัย ได้รับรางวัล โดยใช้องค์ความรู้เรื่อง Stem Cells and Differentiation ในการ (1) ค้นพบวิธีการรักษาใหม่ ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา Professor Domenico Accili สำหรับ ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ ซึ่งเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อนถูกทำลายไปโดยระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยใช้เซลล์ลำไส้ผลิตอินซูลิน ทดแทน (2) ดร. ฌีวาตรา  ตาลชัย และอาจารย์ เสนอ ทฤษฏีใหม่ ในการอธิบาย การเกิดโรค เบาหวาน ประเภทที่ ซึ่งหักล้าง องค์ความรู้เดิม ที่เชื่อกันมากว่า 30 ปี โดย ทฤษฏีใหม่ เสนอแนวทางการรักษาแบบใหม่ ที่ถูกกับกลไกการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น ณ ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก กว่า 347 ล้านคน** บทวิจารณ์บางส่วนจากสื่อภาคประชาชน

          *wikipedia

          **WHO

ดร. วรวัฒน์ มีวาสนา รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ปี55

on . Posted in ข่าวทั่วไป

 
นักวิทย์ฯ รุ่นใหม่ใช้แสงซินโครตรอนเพิ่มลูกเล่นในโลกดิจิทัล
นักวิทย์ฯรุ่นใหม่ปี 55 เผย“แสงซินโครตรอน”เป็นเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ขั้นแนวหน้า ชี้หากไทยมีการพัฒนาจะเป็นหนทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยของประเทศด้านต่างๆรวมถึงการยกระดับภาคเกษตร ไอที และ ช่วยสร้างองค์ความรู้สู้นานาชาติได้ในอนาคต
 
ความหวังที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่จะมีลูกเล่นแพรวพราวเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้มันสมองของนักวิจัยที่ต้องการให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในโลกดิจิทัล
          ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เจ้าของรางวัล “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2555” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการนำแสงซินโครตรอนมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า แสงซินโครตรอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เนื่องจากเป็นแสงที่มีความเข้มสูงได้เป็นหมื่นเท่าถ้าเทียบกับดวงอาทิตย์ มีประโยชน์อย่างมากต่องานวิจัยทั้งเรื่องการดูโครงสร้างทางอะตอมและคุณลักษณะ ช่วยแยกแยะความแตกต่างและประสิทธิภาพชิ้นงาน
          “ในงานวิจัยนี้แสงซินโครตรอนสามารถใช้สร้างชั้นอิเล็กตรอนสองมิติในผลึกสนิมโลหะได้ ซึ่งให้คุณสมบัติที่หลากหลายกว่าสารกึ่งตัวนำที่ใช้ในปัจจุบันอย่างซิลิกอน โดยชั้นอิเล็กตรอนสองมิตินี้มีสมบัติอย่างการเป็นตัวนำไฟฟ้ายิ่งยวดซึ่งหมายความว่ากระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านจะไม่มีการสูญเสียกำลังเลย และยังมีสมบัติที่ค่าความต้านทานเปลี่ยนไปเมื่อมีสนามแม่เหล็ก เป็นต้น จึงเป็นความหวังใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ที่จะนำสมบัติพิเศษต่างๆนี้มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคใหม่”
          แสงซินโครตรอน เป็นแสงที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากอิเล็กตรอนที่เลี้ยวโค้งด้วยความเร็วใกล้เคียงความเร็วแสง 300 ล้านเมตรต่อวินาที หรือประมาณ1,000 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีค่าพลังงานต่อเนื่อง ครอบคลุมพลังงานวงกว้างตั้งแต่ช่วงของรังสีอินฟราเรดจนถึงรังสีเอ็กซ์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์ของสารควบแน่นและวัสดุศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สภาพนำไฟฟ้ายวดยิ่งของสารประกอบออกไซด์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่เกิดขึ้นกับวัสดุบางชนิด ณ จุดที่มีอุณหภูมิที่ต่ำมาก หมายถึงเมื่อมีอุณหภูมิลดลงถึงค่าๆ หนึ่งหรือต่ำกว่าความต้านทานของวัสดุนั้นจะลดลงเกือบเป็นศูนย์ และ สถานะทางควอนตัมที่เกี่ยวข้องกับสมบัติทางแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นและหลากหลายกว่าเดิม
          ดร.วรวัฒน์ กล่าวต่อว่า งานวิจัยที่ทำอยู่ในขณะนี้จะเน้นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนเพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงทดลองขั้นแนวหน้า โดยงานวิจัยในปัจจุบันและที่ผ่านมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟิสิกส์ของสารควบแน่นและวัสดุศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ สมบัติของชั้นอิเล็กตรอนระดับนาโน
          บนผิวออกไซด์ของโลหะทรานซิชัน สมบัติเฉพาะของวัสดุที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน โดยเฉพาะ กราฟีนและสารประกอบ Diamondoid สภาพนำไฟฟ้ายวดยิ่งอุณหภูมิวิกฤตสูงในสารประกอบคอปเปอร์ออกไซด์ ทั้งนี้ ประโยชน์จากงานวิจัยคือความรู้ที่จะช่วยพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ๆ ที่มีความสามารถที่ดีและหลากหลายกว่าการใช้สารกึ่งตัวนำแบบดั้งเดิม รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์สร้างพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งนอกจากแสงซินโครตรอนจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แสงซินโครตรอนยังถูกนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัยด้านอื่นๆ เช่น การเกษตร การแพทย์ งานด้านสิ่งแวดล้อม งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เภสัชวิทยา และโบราณคดี ด้วยเช่นกัน  
           “แสงซินโครตรอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัยได้หลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายประเทศว่าจะนำไปใช้ในด้านไหน ในส่วนงานวิจัยด้านเกษตรก็สามารถทำได้ เช่น นำไปวิเคราะห์ความอร่อยของปุ๋ยที่พืชกินเป็นอาหาร หากพืชได้กินอาหารที่อร่อยจะทำให้เจริญเติบโตงอกงามยิ่งขึ้นเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งหากนำแสงซินโครตรอนมาใช้ในการตรวจสอบปุ๋ยจะสามารถลดเวลาและลดขั้นตอนได้มาก จากที่เคยใช้เวลานานนับเดือนในการหาโครงสร้างของสารประกอบต่างๆที่มีอยู่ปุ๋ยอาจใช้เวลาเหลือเพียงแค่ 10 นาที ก็สามารถตรวจสอบได้ว่าปุ๋ยที่ใช้เหมาะสมกับพืชมากน้อยแค่ไหน นั่นคือประโยชน์ของแสงซินโครตรอนที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในกลุ่มงานต่างๆเหมือนเป็นเครื่องเร่งที่ดีในการทำวิจัยที่มีประสิทธิภาพขั้นสูงมากขึ้น”
           อย่างไรก็ตาม ดร.วรวัฒน์ ยอมรับว่า องค์ความรู้ในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ๆ ให้มีคุณสมบัติที่ดีและหลากหลายกว่าเดิมจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยด้วยกันโดยเฉพาะในระดับประเทศที่จะต้องร่วมมือกันในทางวิชาการเพื่อเป็นกลไกในการทบทวน ติดตามผลการดำเนินงาน และจัดทำแผนงานความร่วมมือในอนาคต จะทำให้กรอบการพัฒนาศักยภาพด้านแสงซินโครตรอนในประเทศไทยได้ผลในวงกว้างมากยิ่งขึ้น  รายละเอียดเพิ่มเติม